ธงชาติไทย

สวัสดีครับวันนี้ผมจะมาบอกประวัติและความหมายของธงชาติไทยเพื่อที่จะไม่เสียเวลา เชิญดู  ประวัติและความหมายได้เลย
ประวัติธงชาติไทย
การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยถือกันว่าเริ่มขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 – พ.ศ. 2231) โดยเป็นธงพื้นสีแดง และไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ในสมัยต่อๆ มา ได้มีการนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ได้แก่ จักรสีขาววงใหญ่ และช้างเผือกในจักรสีขาว ส่วนเรือค้าขายเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงเหมือนเดิม

ธงชาติอย่างเป็นทางการแบบแรกมีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2398 โดยเป็นธงพื้นสีแดง มีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลาง เนื่องจากมีเหตุผลว่า ธงพื้นสีแดงเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะสามารถแยกแยะประเทศได้ในการติดต่อระหว่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2459 มีบันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี และทอดพระเนตรเห็นธงชาติถูกแขวนกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถวสีขาว 2 แถว ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว

พ.ศ. 2460 แถบสีแดงตรงกลางได้เปลี่ยนเป็นสีขาบ (สีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วย

พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบันทึกพระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า  ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่างๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธง ฉบับ พ.ศ. 2479[5] และฉบับ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์
ความหมายของธง
ในพระราชนิพนธ์เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นิยามความหมายของธงไว้ว่า
• สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
• สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา
• สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์
ต่อมาความหมายได้กลายไปเล็กน้อย โดยสื่อความหมายถึงสถาบันหลักของชาติ 3 สิ่ง ดังนี้
• สีแดง หมายถึง ชาติ
• สีขาว หมายถึง ศาสนา
• สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์
ทั้งสามสิ่งนี้ถือเป็นคติหรือคำขวัญอย่างไม่เป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบัน
โดยผมขอจบการนำเสนอประวัติและความหมายของธงชาติไว้แค่นี้ละกันนะครับ และขอขอบคุณ http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ที่ขอข้อมูลบางส่วนมา

ขอบคุณครับ

ใส่ความเห็น